Call Us

0654966768

Email Us

maechua.pongcity@gmail.com

บ้านห้วยสิงห์ หมู่ที่ ๑

1. ประวัติความเป็นมาของชุมชน/หมู่บ้าน

บ้านห้วยสิงห์ หมู่ 1 ตำบลปง  อำเภอปง จังหวัดพะเยา เดิมหมู่บ้านห้วยสิงห์ มีผู้คนเข้ามาทำไร่หลายหมู่บ้าน  เช่น บ้านม่วง  หมู่ที่  5  ,  บ้านหมุ้น  หมู่ที่  14  บ้านดง  หมู่ที่  13  , บ้านกองแล  หมู่ที่  4 ,  บ้านบุญเรือง  หมู่ที่  9  ตำบลปง  อำเภอปง  จังหวัดพะเยา 

ในปัจจุบันและมีราษฎรจากต่างตำบล  ต่างอำเภอ  ต่างจังหวัด  เข้ามาตั้งรกรากอยู่ประมาณ  30  หลังคาเรือน  เพื่อเข้ามาทำการเกษตร  โดยแยกเป็น  2  บ้าน  คือ  บ้านสบผง  และบ้านห้วยสิงห์  ขึ้นการปกครองกับบ้านม่วง  ตำบลปง  อำเภอบ้านม่วง  จังหวัดน่าน  ในขณะนั้น  ต่อมาได้มีผู้คนพากันอพยพเข้ามาอยู่เพิ่มอีก  จนมีประมาณ  40  หลังคาเรือน  ในปี  พ.ศ.  2481  ทางกรมการปกครอง  กระทรวงมหาดไทย  ก็ได้มีประกาศพระราชบัญญัติให้จัดตั้งขึ้นเป็น  หมู่บ้านห้วยสิงห์  ตำบลปง  อำเภอบ้านม่วง  จังหวัดน่าน  โดยมีผู้ใหญ่บ้านคนแรก  คือ  นายกั๋นใจ  หมอยาดี  ต่อมาเมื่อปี  พ.ศ.  2482  บ้านห้วยสิงห์  ได้จัดตั้งโรงเรียนบ้านห้วยสิงห์ขึ้น  มีครูใหญ่คนแรก  คือ  นายคำเคี่ยน  เมืองนุ  จนกระทั่งถึงปี  พ.ศ.  2498  บ้านห้วยสิงห์  ได้ย้ายโอนการปกครองจากจังหวัดน่านมาขึ้นกับจังหวัดเชียงราย  มีชื่อเป็นบ้านห้วยสิงห์  หมู่ที่  5  ตำบลปง  อำเภอปง  จังหวัดเชียงราย  ต่อมาปี  พ.ศ.  2504  บ้านสบผง  ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม  จึงได้ย้ายขึ้นมาอยู่รวมกับบ้านห้วยสิงห์  เป็นหมู่บ้านห้วยสิงห์    และในปี พ.ศ.  2519  หมู่บ้านห้วยสิงห์ได้รวมใจกันจัดตั้งวัดขึ้นมาชื่อว่า  วัดห้วยสิงห์  โดยมีเจ้าอาวาสรูปแรก  คือ  พระอธิการจันธิมา  ขนติพโล  จนถึงปี  พ.ศ.  2520  อำเภอเมืองพะเยา  ได้เลื่อนฐานะเป็นจังหวัดพะเยา  หมู่บ้านห้วยสิงห์จึงได้ย้ายการปกครองจากจังหวัดเชียงรายมาอยู่กับจังหวัดพะเยา  มีชื่อเป็น  บ้านห้วยสิงห์  หมู่ที่  14  ตำบลปง  อำเภอปง  จังหวัดพะเยา  และต่อมาปี  พ.ศ.  2528  ทางตำบลปงก็ได้รับพระราชบัญญัติแยกตำบลเป็นตำบลปง  และตำบลนาปรัง  บ้านห้วยสิงห์จึงเปลี่ยนจากหมู่ที่  14  เป็นบ้านห้วยสิงห์  หมู่ที่  1  ตำบลปง  อำเภอปง  จังหวัดพะเยา

          ในปี  พ.ศ.  2539  บ้านห้วยสิงห์  ได้รับอนุมัติเงินจากรัฐบาลให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสิงห์  สำหรับใช้ประโยชน์จนถึงปัจจุบันนี้        

2. ลักษณะภูมิประเทศ (ภูมิอากาศ/ฤดูกาล)

          บ้านห้วยสิงห์  มีลักษณะพื้นที่  เป็นที่ราบลุ่ม  ลักษณะอากาศโดยทั่วไป  จะมี  3  ฤดู  คือ  ฤดูร้อน     ฤดูฝน    ฤดูหนาว    ในช่วงฤดูร้อนอุณหภูมิ  จะสูงปานกลาง  ถึง  สูงมาก   ช่วงฤดูฝนจะมีฝนตกในปริมาณที่มากกว่าพื้นที่ทั่ว  ๆ  ไป   ส่วนในช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิจะลดลงมาก  ทำให้อากาศหนาวเย็น  ในตอนเช้าจะมีหมอกหนาปกคลุม   และมีน้ำค้างเกาะตามใบหญ้า  

3. ลักษณะประชากร (อัตราความหนาแน่น/โครงสร้างประชากร)

          เนื้อที่ของหมู่บ้าน  ประมาณ  1,500ไร่  ใช้ทำการเกษตรประมาณ 1,200  ไร่    จำนวนครัวเรือน 147 ครัวเรือน จำนวนประชากรทั้งหมด   550  คน  แบ่งเป็นประชากรชาย  จำนวน  277 คน  ประชากรหญิง   จำนวน  273  คน จำนวนครัวเรือนที่ตกเกณฑ์  84  ครัวเรือน จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด  439  คน

4. ลักษณะการประกอบอาชีพของชุมชน/หมู่บ้าน (เกษตร/อุตสาหกรรม/รับจ้าง ฯลฯ)

          ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  ซึ่งใช้เนื้อที่ในการทำการเกษตรประมาณ  1,200  ไร่  จากเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ    1,500  ไร่  คิดเป็นร้อยละ  80 %  ของพื้นที่ทั้งหมดนอกพื้นที่ทำนาและทำสวนเลี้ยงสัตว์ผลผลิตจำหน่ายสู่ตลาด  ภายในและภายนอกชุมชน   ได้แก่   ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์   ข้าวนาปี   ข้าวนาปรัง     ถั่วลิสง   ถั่วเขียว   เป็นต้น

5. ผลิตภัณฑ์มวลรวมของชุมชน/หมู่บ้าน

          รายได้เฉลี่ยประมาณ  36,999  บาท/คน/ปี ครัวเรือนมีการออมทรัพย์ร้อยละ   80   ของครัวเรือนทั้งหมด 

6. ผลิตภัณฑ์ที่ น่าสนใจของชุมชน/หมู่บ้าน

  1. กลุ่มทอผ้า
  2. กลุ่มทำขนมถั่วอบโรยงา

7. ศิลปวัฒนธรรม/ ภูมิปัญญาของชุมชน/หมู่บ้าน

          จากข้อมูลประชากรของตำบลปง  และชาวบ้านห้วยสิงห์  หมู่ที่  1  ตำบลปง  อำเภอปง  จังหวัดพะเยา  ประมาณร้อยละ  90  ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม  โดยมีอาชีพทางด้านเกษตรกรรม  โดยมีอาชีพทำนา  เป็นหลัก  ปลูกพืชไร่  ทำสวน  ปลูกพืชผักรองลงมา  เกษตรกรมีการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยไม่ว่าพันธุ์พืช  ปุ๋ยเคมี     ปุ๋ยอินทรีย์  ตลอดทั้งระบบการปลูกพืช      แต่แนวโน้มในอนาคตการทำการเกษตรของบ้านห้วยสิงห์  คาดว่าจะขาดแคลนแรงงานและมีเครื่องจักรกลเข้ามาทดแทนและปัจจุบันลักษณะการผลิต  จะเป็นการผลิตตามระบบฤดูกาล  และเพื่อบริโภคในครัวเรือน  ผลผลิตที่เหลือจึงนำออกจำหน่ายการผลิตแบบครบวงจร  หรือระบบประกันราคา  มีจำนวนน้อย  เพราะขาดความไว้วางใจความซื่อสัตย์ต่อกัน  การผลิตหรือการประกอบอาชีพของชุมชนในปัจจุบัน  ไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตได้เอง  ขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลาง  บางปีต้องประสบกับภัยธรรมชาติ  น้ำท่วม  ฝนแล้ง  ลมพายุ  ทำให้มีความเสี่ยงต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกร  ผลตอบแทนที่ได้รับบางครั้งไม่คุ้มกับการลงทุน  ดังนั้น  ชาวบ้านหลายคนจึงได้คิดให้มีการส่งเสริมให้รู้จักประหยัด  อดออม  รู้จักใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ลดการใช้สารเคมีลง  จึงจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยเหลือเกษตรกรบ้านห้วยสิงห์   มีการลดทุนการผลิตลง  ผลผลิตที่ได้รับมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค วัฒนธรรมประเพณี  และ วิถีชีวิตชุมชนบ้านห้วยสิงห์  เป็นการอยู่อาศัยร่วมเป็นแบบพี่น้องเป็นส่วนใหญ่  คนบ้านห้วยสิงห์นับถือศาสนาพุทธ  วิถีชีวิตอยู่แบบพื้นบ้าน  พอมีพอกิน  ไม่ฟุ้งเฟ้อ  ซึ่งถ้าจะเปรียบก็เป็นการอยู่อย่างพอเพียง  ดังนั้น  การจะอนุรักษ์วัฒนธรรม  และวิถีชีวิตของชุมชนไม่ให้เกิดการฟุ้งเฟ้อนิยมของต่างแดน

8. สถานที่ท่องเที่ยว/บริการ

          อ่างเก็บน้ำห้วยสิงห์   ศูนย์เด็กเล็ก  1  แห่ง  สถานศึกษา  1  แห่ง  โรงสีข้าว  ปั๊มน้ำมัน  ร้านค้า

9. การคมนาคม (การเดินทางไปยังชุมชน/หมู่บ้าน)

ระยะทางจากหมู่บ้านไปถึงที่ว่าการอำเภอปง  11  กิโลเมตร      ถนนลาดยาง

10. ประเพณี/เทศกาลประจำปี

วัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญ  ได้แก่  วันสงกรานต์  วันที่  13 – 16  เมษายน  ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมเล่นสาดน้ำกัน  และรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุและการละเล่นตามวัฒนธรรมประเพณีแต่ดั้งเดิมต่าง ๆ   และขนทรายเข้าวัด ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา  ในช่วงเดือนกรกฎาคม   ประเพณีลอยกระทงในวันเพ็ญขึ้น  15  ค่ำ   เดือนสิบสอง

11. ทักษะฝีมือแรงงานของชุมชน/หมู่บ้าน

          ประกอบอาชีพ  ทำการเกษตรกรรม  เลี้ยงสัตว์  และรับจ้างทั่วไป ด้านเกษตรกรรม  คิดเป็นร้อยละ  95    ทำนา  ร้อยละ   20 ทำสวน  ร้อยละ  10 ทำไร่  ร้อยละ   60 เลี้ยงสัตว์  ร้อยละ  5

12. อื่นๆ

          กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  มีสมาชิกจำนวน  58  คน  มีเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 121,000.- บาท