หัวข้อข่าว : QR พาไปรู้ (ต้นหมากเหลือง)

1629878374 เข้าชม : 25,302 ครั้ง | ส่งข่าวนี้ไปที่


หมากเหลือง
Areca Palm หรือ Yellow Palm

หมากเหลือง เป็นไม้ประดับภายในอาคารที่เป็นที่นิยมมากชนิดหนึ่ง เพราะมีความสวยงาม มีความทนต่อสภาพแวดล้อมภายในอาคารและคายความชื้นให้แก่อากาศภายในห้องได้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่มีประสิทธิภาพสูงในการดูดสารพิษจากอากาศได้ในปริมาณมากเช่นกัน หมากเหลืองเป็นพืชตระกูลปาล์มที่ปลูกง่าย โตเร็ว เป็นพันธุ์ไม้ขนาดกลาง สูงประมาณ 5–10 เมตร ลำต้นมีลายคล้ายข้อปล้อง โค้งงอและตั้งตรงได้สัดส่วนสวยงาม เจริญพันธุ์ด้วยการแตกหน่อเป็นกอประมาณ 5–12 ต้น ใบมีลักษณะเป็นรูปขนนก แผ่นใบมีสีเขียวอมเหลือง ออกดอกเป็นช่อสีเหลืองอ่อนเป็นอยู่ใต้กาบใบ

ภายใต้สภาพแวดล้อมห้อง หมากเหลืองขนาดสูง 1.8 เมตรจะคายน้ำประมาณ 1 ลิตร ทุกๆ 24 ชั่วโมง ในบรรดาไม้ประดับดูดสารพิษด้วยกัน หมากเหลือง เป็นพืชที่ดูดสารพิษจากอากาศได้ในประมาณมากที่สุดชนิดหนึ่งที่แนะนำให้ปลูกไว้ใน อาคารสำนักงาน หรือบ้านเรือน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Chrgsalido carpus lutesers
วงศ์ PLAMAE
ถิ่นกำเนิด มาดากัสก้า
แสงแดด แดดจัด
อุณหภูมิ 18–24 องศาเซลเซียส
ความชื้น ต้องการความชื้นสูง
น้ำ ต้องการน้ำมาก
การดูแล ควรให้น้ำตอนเช้าวันละครั้ง แต่อย่าให้แฉะ ให้ปุ๋ยคอกอย่างสม่ำเสมอเดือนละ 1 ครั้ง หมั่นฉีดพ่นใบด้วยละอองน้ำ จะช่วยป้องกันแมลงได้
การปลูก นิยมปลูกลงกระถาง โดยใช้ดินที่สมบูรณ์ มีส่วนผสมของดินร่วน ทรายแกลบ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เศษใบไม้ผุ ในอัตราส่วน 4:2:1:2:1
การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ดหรือแยกกอ
อัตราการคายความชื้น มาก
อัตราการดูดสารพิษ มาก

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ลำต้น หมากเหลือง มีลำต้นเพรา ทรงกลม และตั้งตรง ลำต้นแตกหน่อเป็นกอใหม่รอบต้นแม่ เมื่อโตเต็มที่จะสูงได้ถึง 8 เมตร ขนาดลำต้นประมาณ 4-8 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อหรือเป็นวงชัดเจน ผิวลำต้นเรียบ โคนลำต้นมีสีเหลืองส้มหรือเขียวอมเหลือง ลำต้นส่วนปลายมีนวลสีขาวปกคลุม
ใบ ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก กาบใบหุ้มลำต้น มีสีเหลืองอมส้ม เรียงเยื้องกันตามความสูง ใบมีทางใบยาว 1.5-2 เมตร ทางใบมีสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวอมเหลือง บนทางใบมีใบย่อยเรียงเยื้องสลับกันเป็นแถว ใบย่อยมีลักษณะเรียวยาว โคนใบสอบรูปลิ่ม ปลายใบเรียวแหลม คล้ายใบมะพร้าว กว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 40-60 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ มีสีเขียวอมเหลือง
ดอก หมากเหลืองออกดอกเป็นช่อเหมือนกับช่อดอกของปาล์มทั่วไป ก้านช่อดอกยาวประมาณ 60-100 เซนติเมตร ปลายช่อแตกแขนงเป็นช่อย่อย บนช่อแขนงประกอบด้วยดอกย่อย จำนวนมาก ดอกย่อยแต่ละดอกมีสีขาว ทั้งนี้ ดอกหมากเหลืองเป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ มีการแยกเพศอยู่คนละต้น
ผล ผลหมากเหลือง ติดผลเป็นช่อ แต่ละผลมีรูปกลมรี ขนาดประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผลดิบมีสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้ม และสุกจัดเปลี่ยนเป็นสีม่วงอมดำ แต่ละผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

ประโยชน์หมากเหลือง :

1. หมากเหลืองนิยมปลูกทั้งในแปลงจัดสวน การด้านภูมิทัศน์ และการปลูกในกระถางเพื่อเป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีทรงพุ่มสวยงาม ทางใบยาว โค้งย้อยลงดิน แผ่นใบมีสีเหลืองอมเขียวสวยงาม ทั้งนี้ การปลูกในกระถาง ควรวางกระถางในพื้นที่ร่มหรือมีแสงแดดไม่ส่องทั้งวันหรือมีแสงรำไร อาทิ การวางกระถางภายในบ้าน หน้าบ้านที่มีร่ม หรือวางไว้ข้างบ้านที่มีร่มในบางครั้ง เพราะการปลูกในกระถางจะสูญเสียความชื้นได้ง่ายกว่าการปลูกลงแปลง
2. ใช้ปลูกเพื่อเป็นไม้มงคล โดยมีความเชื่อต่างๆ ได้แก่
– หมากเหลืองช่วยให้ผู้คนเกิดความเคารพ และเชื่อฟังในตน เหมือนก้านใบหมากเหลืองที่โค้งโน้มลง รวมถึงทำให้สมาชิกในบ้านเป็นผู้มีจิตใจดี จิตใจงดงาม มีความถ่อมเนื้อถ่อมตน
– หมากเหลืองมีก้าน และใบสีเหลืองอมเขียวหรือบางต้นมีสีเหลืองทอง ช่วยส่งเสริมให้เกิดความร่ำรวย มีโชคลาภให้แก้ผู้ปลูกหรือสมาชิกภายในบ้าน
3. หมากเหลืองนอกจากจะปลูกเพื่อการประดับแล้ว เกษตรกรบางรายยังปลูกเพื่อตัดก้านใบส่งขาย สร้างรายได้งามเช่นกัน ก้านใบที่จำหน่ายถูกใช้สำหรับจัดตกแต่งในพิธีต่างๆ อาทิ งานมงคล งานเทศกาลชุมชน และงานสำคัญของทางราชการ
4. ก้านหมากเหลืองใช้ถูหรือจิ้มบริเวณฝ่าเท้าเพื่อตรวจหาอาการชาจากภาวะโรคเบาหวาน ลดความเสี่ยงการเกิดแผลจากโรคเบาหวาน มีวิธีการใช้ คือ นำก้านหมากเหลืองมาผ่าเปลือกนอกออก ให้เหลือเฉพาะแก่นอ่อนด้านใน จากนั้น เหลาให้ส่วนปลายเรียวเล็ก และปลายสุดเหลาให้มน ก่อนใช้จิ้มบนฝ่าเท้าตรวจหาอาการชา [3]

สรรพคุณหมากเหลือง :

• ผลอ่อน มีรสฝาด มีสรรพคุณต่างๆ ได้แก่
– ช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยขับเสมหะ
– แก้อาการเมา วิงเวียนศรีษะ
– แก้อาการคลื่นเหียน อาเจียน
– ช่วยบรรเทาอาการไอ
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
• ผลดิบนำมาปอกเปลือก ก่อนแยกเอาเนื้อมาเคี้ยวกับหมาก ให้รสฝาดจัด มีสรรพคุณต่างๆ ได้แก่
– แก้อาการท้องเสีย
– แก้ปวดแน่นท้อง
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
– ช่วยขับปัสสาวะ
• เนื้อผล มีรสจืดหวาน
– ช่วยขับลม
– ช่วยขับปัสสาวะ
– แก้ท้องอืดแน่น
– แก้โรคบิด หรืออาการท้องเสีย
• ผลอ่อน และเนื้อผลแก่ ใช้ทาภายนอก
– เนื้อผลนำมาบดทารักษาแผล ช่วยสมานแผลให้หายเร็ว
– ใช้ทารักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน

ที่มา พฤกษศาสตร์โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์


.