หัวข้อข่าว : “สุรศักดิ์”ขับเคลื่อน “กศน.ตำบลคุณภาพ”นำร่องต้นแบบอำเภอละ1ตำบล ตอบโจทย์รัฐบาลไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

1638324267 เข้าชม : 25,370 ครั้ง | ส่งข่าวนี้ไปที่


                          เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ดร.สุรศักดิ์ อินศรีไกร เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธศัย(กศน.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการ กศน. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ตนได้ระดมความคิดของฝ่ายบริหารทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้ง กศน.ภาค กศน.อำเภอ และจากการลงพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาการขับเคลื่อนงาน เพื่อวางกรอบนโยบายและจุดเน้นให้บรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนงาน กศน.ปีงบประมาณ 2565  จนสามารถกำหนดเป็นสโลแกนในการทำงานของ กศน. ว่า “กศน.เพื่อประชาชน ก้าวใหม่ ก้าวแห่งคุณภาพ” โดยการทำงานต้องสอดรับกันทุกส่วน ทั้ง ฝ่ายบริหารส่วนกลาง  ฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาค สถาบัน กศน.ภาค กศน.จังหวัด และส่วนสุดท้ายที่อยู่ในพื้นที่จริง ๆ ที่เรียกกว่า ปลายน้ำ คือ กศน.อำเภอ กศน.ตำบล ซึ่งตนได้เน้นย้ำทั้ง 3 ส่วนต้องเชื่อมโยงกัน ทำงานสอดรับกัน และเข้าใจเป้าหมายที่ชัดเจนว่ามีทิศทางอย่างไร เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้สามารถขับเคลื่อนได้จนประสบความสำเร็จ  เลขาธิการ กศน. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ งานในความรับผิดชอบของ กศน.หลัก ๆ 3 งาน คือ การศึกษาพื้นฐาน การจัดการศึกษาต่อเนื่องในรูปแบบของอาชีพระยะสั้นต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  และการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ที่มีรูปแบบกระบวนการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย  ซึ่งตนคิดว่าการจะทำให้งาน กศน.ประสบความสำเร็จอย่างน้อยต้องมี 4 เป้าหมายหลัก คือ 1.การส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ  ซึ่งตอนนี้หมดยุคตัดเสื้อตัวเดียวให้ใส่ทั้งประเทศแล้ว ดังนั้นส่วนกลางน่าจะกำหนดแค่จุดเน้นและนโยบาย ส่วนแนวปฏิบัติขอให้เป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อน  เพราะวิกฤติ อุปสรรค แต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ซึ่งตนคิดว่าแต่ละพื้นที่มีศักยภาพในการจัดการ อีกทั้งวันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว กศน.ก็ต้องเปลี่ยนให้ทันการเปลี่ยนแปลงด้วย หลักสูตรอะไรที่ต้องทบทวนให้ทันยุคทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรเสริมสร้างสมรรถนะให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้สอดรับกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรอาชีพในยุคสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลง รูปแบบก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยถ้ายังใช้อาชีพเดิมอยู่ก็อาจไม่ทันยุคทันสมัย หรือแม้แต่รูปแบบที่จะส่งเสริมเรื่องของรายได้ให้แก่ประชาชนก็ต้องปรับ การนำไอซีทีมาใช้ในการบริหารจัดการโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิดที่การเรียนไม่สามารถรวมกลุ่มกันได้ ก็ต้องใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ มาขับเคลื่อนงานการจัดการเรียนรู้  ดร.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า เป้าหมายที่ 2.การสร้างสมรรถนะและทักษะที่มีคุณภาพให้แก่ผู้เรียน ซึ่ง กศน.ต้องกลับมาคิดว่า สมรรถนะและทักษะที่สำคัญของประชาชนควรมีเรื่องอะไรบ้าง ทั้งทักษะอาชีพ ทักษะทางวิชาการ คุณภาพชีวิตก็เป็นส่วนที่จะตอบโจทย์ได้ว่า คนมาเรียนกศน.ต้องมีความรู้ ต้องมีอาชีพ ต้องมีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  3.ทำอย่างไรให้องค์กร กศน. รวมถึงสถานศึกษา มีคุณภาพและศักยภาพในการขับเคลื่อนงาน กศน. เพื่อส่งผลต่อคุณภาพของกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้เรียนให้มี ทักษะอาชีพ ทักษะทางวิชาการ และทักษะชีวิตที่ดี  ดังนั้นตนจึงได้ให้ความสำคัญของ กศน.ตำบล เพราะกศน.ตำบลเป็นจุดแตกหักของการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ เป็นห้องเรียนที่เข้าถึงประชาชนที่แท้จริง เพราะฉะนั้นเราจะทำให้กศน.ตำบลมีคุณภาพได้อย่างไร เพราะถ้า กศน.ตำบลมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพก็จะทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามไปด้วย จึงเป็นที่มาของนโยบายสร้าง กศน.ตำบลคุณภาพ   และ 4.การสร้างคุณภาพการบริหารจัดการ เพราะการบริหารจัดการเป็นส่วนสำคัญในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ

“นอกเหนือจากเป้าหมาย 4 ประการดังกล่าวแล้ว เป้าหมายหลักสุดท้ายปลายทาง คือ 1.เรื่องของโอกาสกับการศึกษา ทำอย่างไรให้ทุกคนมีโอกาสทางการศึกษา ทำอย่างไรจึงจะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  2.คุณภาพกับการศึกษา ที่ กศน.ต้องจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ ให้ทุกคนยืดอกให้ได้ว่าจบ กศน.มา เขามีวันนี้เพราะ กศน.  3. ประสิทธิภาพ คือ ความพึงพอใจของผู้ใช้และผู้รับบริการเป็นสิ่งสำคัญ และ 4. ผู้เรียนหรือกลุ่มเป้าหมายมีความสุขในการเรียน ผู้เรียนมีทักษะที่ดีขึ้น เป็นคนดี คนเก่ง และกล้า  ขณะเดียวกันผู้ร่วมงานหรือบุคลากรของ กศน.มีความสุขในการทำงาน ได้รู้ว่าทำงานเพื่อประชาชน”เลขาธิการ กศน.กล่าวและว่า ทั้งนี้ นโยบายและแนวทางที่ดำเนินการทั้งหมดสอดรับกับนโยบายของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ  และ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ที่กำกับดูแล กศน.ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งสามารถตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาลในการจัดการศึกษาตลอดชีวิต ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  เลขาธิการ กศน.กล่าวด้วยว่า สำหรับการขับเคลื่อน กศน.ตำบลคุณภาพ นั้น ขณะนี้ได้มอบให้แต่ละกศน.อำเภอ ไปคัดเลือก อำเภอละ 1 ตำบล เพื่อขับเคลื่อนเป็น กศน.ตำบลคุณภาพต้นแบบ โดย กศน.จะดูแลเรื่องของปัจจัยการบริหาร ไปเสริมให้มีความพร้อมทั้งเรื่องของงบประมาณ กำลังคน รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ  ซึ่งเมื่อขับเคลื่อนแล้วเห็นผลปีต่อไปก็จะมีการขยายผลไปยังตำบลอื่นต่อไป นอกจากนี้ กศน.กำลังทำความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ในการใช้ประโยชน์จากอาคารสถานที่ของโรงเรียนสังกัด สพฐ.ที่ว่างอยู่ เพราะวันนี้ กศน.ตำบล หลายแห่งยังไม่มีความพร้อมยังต้องไปอาศัยสถานที่ของส่วนราชการอื่นในการรวมกลุ่ม และให้บริการประชาชน ขณะที่ตอนนี้มีโรงเรียนประถมศึกษาของ สพฐ.มีอาคารว่างอยู่ เพราะมีการควบรวมโรงเรียน หรือ เพราะมีนักเรียนน้อย ก็จะมีการบูรณาการเพื่อให้ กศน.เข้าไปใช้ประโยชน์ ซึ่งเรื่องนี้ ดร.กนกวรรณ และ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)ก็เห็นด้วย


.