หัวข้อข่าว : รมช.ศธ.”คุณหญิงกัลยา” เปิดงานเสวนา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. กับการกระจายอำนาจทางการศึกษา

2022-03-29 13:51:24 เข้าชม : 25,407 ครั้ง | ส่งข่าวนี้ไปที่


รมช.ศธ. “คุณหญิงกัลยา” เปิดงานเสวนา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. กับการกระจายอำนาจทางการศึกษา ชี้ภารกิจสำคัญเพื่อเตรียมเด็กให้มีความพร้อม มีภูมิคุ้มกันต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ มีความสามารถ มั่นใจ สนุกกับการใช้ชีวิต แนะทางออกจัดการศึกษาด้วย Unplugged Coding และ STI ที่สอดคล้องกับผู้เรียน ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้ยั่งยืน 28 มีนาคม 2565 – ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการเสวนา “ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. กับการกระจายอำนาจทางการศึกษา (National Education Bill : The Shift to Educational Decentralization” และบรรยายพิเศษ เรื่อง “กฎหมายการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” ณ พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน กรุงเทพมหานคร ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวรายงานว่า การจัดทำกฎหมายเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศ จำเป็นต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันและอนาคต ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเข้าสู่ยุค “VUCA World”* ซึ่งเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกมิติ ทั้งเทคโนโลยี การแข่งขันทางเศรษฐกิจภายในและภายนอก รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับการศึกษาและการดำรงชีวิต ดังนั้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวที่จะรองรับความหลากหลายในมิติของการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา การส่งเสริม การสนับสนุนการศึกษาของทุกภาคส่วน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างเสริมให้ระบบการศึกษามีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษา ตลอดจนสร้างเสริมธรรมาภิบาลของระบบการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำ ร่าง กฎหมายเพื่อรองรับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ จำนวน 3 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติการบริหารข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา พ.ศ. …. ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา พ.ศ. …. (องค์การมหาชน) ร่างพระราชบัญญัติสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ พ.ศ. …. ในวันนี้ สกศ. ได้จัดงานเสวนา ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. กับการกระจายอำนาจทางการศึกษาขึ้นเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. และการกระจายอำนาจทางการศึกษาสู่โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สร้างการรับรู้ต่อเครือข่ายภาคการศึกษาและเครือข่ายภาคสังคม โดยทุกฝ่ายจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับวิทยากรที่มากด้วยความรู้และประสบการณ์ ตลอดทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. กล่าวว่า การจัดงานวันนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่อยู่ในรัฐสภา และเป็นการเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้ทราบว่ากฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างคุณภาพการศึกษาให้เด็กอย่างไรบ้าง มีการแก้กฎหมายและเขียนกฎหมายขึ้นใหม่ เพื่อให้การดำเนินตามวัตถุประสงค์นี้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สาระสำคัญของกฎหมายนี้ จะสร้างให้สภาการศึกษามีอำนาจหน้าที่ในการวางแผน จัดทำแผนการศึกษา และออกระเบียบข้อบังคับเพื่อให้ปฏิบัติได้จริง จากเดิมที่มีแผนแต่ไม่ต้องปฏิบัติตามก็ได้ ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้จะต้องทำให้ทุกสถาบันการศึกษาเดินไปในทิศทางเดียวกันตามที่วางแผนไว้ สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาและยุทธศาสตร์ชาติ ด้วย ทุกภาคส่วนจะมาร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาตั้งแต่เกิดจนตาย ให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนหนังสือ โดยเน้นไปที่สมรรถนะของการศึกษา ไม่ว่าเรียนอะไรก็ตามต้องสามารถเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน มีอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้ ภารกิจสำคัญที่สุด คือ จะทำอย่างไรเพื่อเตรียมเด็กในวันนี้ให้มีความพร้อม มีภูมิคุ้มกันต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ ทำให้เด็กมีความสามารถ มีความมั่นใจ และสนุกกับการใช้ชีวิตเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งทางออกที่เน้นย้ำตลอดมาคือการจัดการศึกษาแบบ Unplugged Coding ซึ่งถือเป็นทักษะที่มีความจำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่ทุกคนต้องเรียนรู้ และ STI (Science / Technology/ Innovation) ให้สอดคล้องกับผู้เรียน จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้ยั่งยืนตลอดไป รมช.ศธ. กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่กำกับดูแล สกศ. ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะใช้เป็นกลไกและเครื่องมือที่สำคัญในการส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้เรียนเป็นผู้สนใจใฝ่รู้ และมีความสามารถในการหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิต


.