หัวข้อข่าว : เรื่องเล่าของครูเดชา

1616813171 เข้าชม : 32,681 ครั้ง | ส่งข่าวนี้ไปที่


เรื่องเล่าของครูเดชา  พุ่มไสว

การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน

          หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักคิด หลักยึด ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ความพอประมาณ ความมีเหตุผล เงื่อนไขความรู้  เงื่อนไขคุณธรรม หากนำไปใช้ในชีวิตประจำวันจะทำให้เป็นบุคคลที่อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

“ก่อนเข้าถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”    
          ข้าพเจ้า เป็นผู้ที่อยู่ในครอบครัวที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงมาตั้งแต่ยังไม่เข้าใจ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครอบครัวของข้าพเจ้ามีอาชีพรับจ้าง ซึ่งคุณแม่จะรับจ้างทำทุกอย่างที่เขาจ้าง ส่วนคุณพ่อเป็นช่างไม้ ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่จะต้องทำงานด้วยความขยัน มานะ และอดทน ที่เหลือท่านก็ขายผลผลิต เงินที่ได้มาท่านจะแบ่งใช้เป็นส่วนๆ เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินหากมีความจำเป็นต้องใช้ เช่น ค่ารักษาพยาบาลเวลาคนในครอบครัวเจ็บป่วย  ค่าเล่าเรียนของลูกทุกคน นอกจากทำไร่แล้วคุณพ่อ คุณแม่คิดที่จะเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว เนื่องจากต้องเลี้ยงดูพี่กับน้อง 2 คน และตัวข้าพเจ้า รวม 3 คน มีพี่ผู้หญิง 1 คน และน้องชาย 1 คน ซึ่งอยู่ในวัยศึกษาหาความรู้ จึงมีความจำเป็นต้องมีรายได้เพิ่ม เพื่อให้เพียงพอที่จะส่งเสียให้พวกเราได้เรียน จึงได้ร่วมกันคิดที่จะทำอาชีพอีก 1 อาชีพ คือ การค้าขาย โดยการเลี้ยงหมู เนื่องจากท่านทั้ง 2 เป็นผู้ที่มีความประหยัด มัธยัสถ์ทำให้ครอบครัวของข้าพเจ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นตามที่ตั้งใจไว้ และเพียงพอที่จะส่งเสียให้เราได้เรียนหนังสือ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ลืมที่จะสอนให้พวกเราทุกคนรู้จักหน้าที่ของตนเอง รู้จักการออม รู้จักประหยัด มัธยัสถ์ การเผื่อแผ่ให้กับคนอื่นที่ลำบากกว่าเรา แต่เราจะต้องไม่เดือดร้อนกับการให้นั้น ไม่ดูถูกคนที่ด้อยกว่าเรา และอย่าประมาทการใช้ชีวิต เพื่อชีวิตในวันข้างหน้าจะได้ไม่ลำบาก


            ด้วยเห็นถึงความขยัน ความตั้งใจของคุณพ่อและคุณแม่ในการที่จะส่งเสียให้ลูกทุกคนได้เรียนหนังสือ ข้าพเจ้าจึงมีความตั้งใจที่จะต้องเรียนให้จบ โดยเข้ามาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ พักอาศัยอยู่กับป้า และได้ศึกษาต่อจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ข้าพเจ้าอยากให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้สึกดีใจในความสำเร็จของข้าพเจ้า จึงได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนจบปริญญาตรี ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าทำให้คุณพ่อและคุณแม่ได้ภาคภูมิใจในตัวข้าพเจ้าสมกับที่ตั้งความหวังเอาไว้ เนื่องจากท่านต้องการให้ข้าพเจ้าได้มีความรู้ เพื่อจะได้ประกอบอาชีพที่ดี สามารถเลี้ยงตนเองได้ ซึ่งท่านก็หวังไว้ในใจว่าข้าพเจ้าน่าจะได้รับราชการ จะได้เป็นที่พึ่งของครอบครัวได้ และแล้วความหวังของท่านก็เป็นจริง ข้าพเจ้าสามารถสอบบรรจุเข้าเป็นพนักงานราชการของ กศน. และได้เป็น “ครู”   ทำให้คุณพ่อคุณแม่ดีใจที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้วข้าพเจ้าก็ตั้งความหวังไว้ว่าอยากเข้ารับราชการเนื่องจากต้องการสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลให้กับท่านทั้ง 2 จะได้ไม่ต้องกังวลว่า เมื่อเวลาที่ท่านเจ็บป่วยเงินที่ออมอยู่จะเพียงพอหรือไม่ 


“สู่  สถานศึกษาพอเพียง”


          เมื่อได้มีโอกาสมาเป็นบุคคลที่ได้ชื่อว่า  “ครู”  ข้าพเจ้ามีความตั้งใจที่จะนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่ มาใช้ในการที่จะสั่งสอนศิษย์ทุกคนให้ได้มีความรู้ เพื่อเป็นพื้นฐานในการวางอนาคตให้กับนักเรียน และหวังไว้ว่าศิษย์จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ มีคุณธรรม ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ไม่เป็นภาระของสังคม และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2552 ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นครู กศน.ของเขตจตุจักร เริ่มสัมผัสคำว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นคำที่ผู้อำนวยการเอ่ยถึงบ่อยครั้ง  เนื่องจากท่านได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารงาน มีการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ กลยุทธ์ ในการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยเป้าหมายที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ให้ครูทุกคนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน การทำงาน โดยการบูรณาการหรือสอดแทรกเข้าไปในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ตนเองสอน ให้ครบทั้ง 8 กลุ่มสาระ พร้อมทั้งใช้แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในโรงเรียนซึ่งจัดเป็นฐานการเรียนรู้ ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้ให้มากที่สุด    


“เมื่อปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาในชีวิต”


          จากการที่ท่านผู้อำนวยการได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารงาน และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตลอดจนมีการส่งเสริมให้ครูผู้สอนได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน ข้าพเจ้าในฐานะครูผู้สอน เริ่มมีความวิตกกังวลว่าเราจะสามารถทำตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้หรือไม่ และทำอย่างไร เนื่องจากเราไม่มีความรู้ทางด้านนี้เลย รู้สึกสับสนไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนก่อน จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้ารับการอบรม ได้ไปศึกษาดูงานยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งการไปในแต่ละครั้งก็จะได้รับความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เริ่มรับรู้ได้ว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักคิด หลักยึด ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้กับปวงชนชาวไทยในการนำไปใช้ในชีวิตให้สามารถพึ่งตนเองได้ ไม่เบียดเบียน ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือนร้อน ซึ่งประกอบด้วย ความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี และจะต้องมีความรู้ควบคู่ไปกับคุณธรรม แรกๆ ก็ไม่รู้ว่าจะนำหลักคิดหลักยึดนี้ไปใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างไร จนกระทั่งได้เข้ารับการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนการขับเคลื่อนการประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดการเรียนการสอนของครูแกนนำ และครูเครือข่ายเรียนรู้สู่ความพอเพียง ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพฯ จากการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูผู้สอนต่างโรงเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้เดียวกัน  บางครั้งก็รู้สึกว่ายากอยู่เหมือนกันในการสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปในเนื้อหาสาระ ซึ่งจำกัดด้วยเนื้อหา แต่ข้าพเจ้าก็มีความตั้งใจจริง จะพยายามทำให้ดีที่สุด 


“จากเรียนรู้สู่การปฏิบัติ”

          หลังจากผ่านการอบรมมาได้สักระยะหนึ่ง  จึงนำความรู้ที่ได้รับลงสู่กิจกรรมการเรียนการสอนโดยการให้นักเรียนได้รู้ความหมายของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก่อน  ซึ่งประกอบด้วย 3 ห่วง ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน 2 เงื่อนไข ได้แก่ ความรู้ และคุณธรรม เริ่มแรกนักเรียนไม่ค่อยสนใจเท่าที่ควรเนื่องจากเป็นสิ่งใหม่สำหรับนักเรียน และที่สำคัญนักเรียนไม่ชอบคิด ตอนแรกก็รู้สึกกังวลมากเนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากนักเรียนเท่าที่ควร เราเองก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราบอกนักเรียนไป นักเรียนเข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสารออกไปหรือไม่ ถึงจะได้ไม่มากแต่ก็ยังดีกว่าไม่คิดเลย จึงเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนตอบหรือที่เราเรียกว่าถอดบทเรียนนั่นเอง พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมหากนักเรียนมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจ จนกว่านักเรียนจะสามารถเชื่อมโยงได้ถึงจะได้ไม่ทั้งหมด แต่ก็เป็นที่น่าพอใจ เพราะเป็นการเริ่มต้นนั่นเอง ถ้าจะเปรียบ “ครู” กับ “นักเรียน” แรก ๆ ก็ไม่แตกต่างกันเพราะตอนรับรู้ใหม่ๆ ครูก็คิดไม่ได้ บางครั้งคิดได้ แต่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดตามที่เราเข้าใจได้ เนื่องจากไม่มั่นใจในความคิดของตนเองเหมือนกับนักเรียนเช่นเดียวกัน แต่เมื่อได้ฝึกคิด ฝึกปฏิบัติบ่อยๆ ก็จะสามารถรับรู้ และเข้าใจได้ไม่ยาก นอกจากการสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในกลุ่มสาระการเรียนรู้แล้ว  ยังสามารถนำไปใช้ในกิจกรรมฐานการเรียนรู้ของ กศน. ซึ่งแต่ละกิจกรรมสามารถเชื่อมโยงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากในแต่ละกิจกรรมนักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงผ่านกิจกรรมที่ตนเองรับผิดชอบ นักเรียนแต่ละฐานสามารถบอกได้ว่า มีความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขความรู้ คู่คุณธรรมอย่างไร ซึ่งกิจกรรมฐานการเรียนรู้นี้นักเรียนค่อนข้างทำได้ดี เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่สามารถเชื่อมโยงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ง่ายเห็นได้ชัด 


 “ความพอเพียงสู่ความภูมิใจ”


          จากการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่กิจกรรมการเรียนการสอน ส่วนหนึ่งถือได้ว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง ถึงจะไม่มากเท่าที่ควรแต่ก็สามารถสร้างความภูมิใจให้กับข้าพเจ้า เนื่องจากได้ปฏิบัติการสอนให้นักเรียนเกิดทักษะด้านการคิดในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ทำได้ดี สามารถเชื่อมโยงกิจกรรมที่นักเรียนปฏิบัติได้  ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้ข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก ไม่คิดว่าคนที่ไม่มั่นใจในตนเอง ไม่คิดว่าความรู้ที่ตนเองมีอยู่จะเพียงพอที่จะสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นได้

          นอกจากการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่กิจกรรมการเรียนการสอนแล้ว ข้าพเจ้ายังยึดถือ หลักคิด หลักยึดนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันของตนเอง โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้จ่ายเงินจะต้องมีการวางแผนการใช้จ่ายของตนเองให้เหมาะสมกับรายรับ จะใช้อย่างไร มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในการซื้อของสักชิ้น เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง โดยใช้ความรู้คู่คุณธรรมประกอบการตัดสินใจ นอกเหนือจากเรื่องการใช้จ่ายเงินแล้ว เรื่องของการทำงานก็สามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ได้อีกด้วย        

          จากการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ท่านต้องการให้คนทุกคนดำรงอยู่ได้โดยพึ่งพาตนเอง พออยู่  พอกิน ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ทำให้มองเห็นว่าสิ่งที่เราได้ปฏิบัติตนทั้งการเป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่ การเป็นครูปฏิบัติหน้าที่สอนนักเรียน สิ่งเหล่านี้ คือ การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ เนื่องจากทุกการกระทำของข้าพเจ้าจะต้องเริ่มต้นที่เหตุผล มีความพอประมาณในสิ่งที่ทำ สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองได้ โดยอาศัยหลักของความรู้  และที่สำคัญด้านคุณธรรมข้าพเจ้ายึดถือและปฏิบัติตนมาโดยตลอด เป็นการวางรากฐานนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคตได้ ดังนั้นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้จึงสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกการกระทำ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราปฏิบัติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดกับชีวิตได้ในอนาคต ...

 


.